UX is Everywhere : UX ที่ได้จากการทำงานที่บ้าน (Work From Home)

UX is Everywhere

UX หรือ User Experience เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา

และบทความที่จะเล่าในวันนี้ก็เช่นกัน ….

เนื่องจาก สถานการณ์โควิด เราเลยใช้บริการช้อปปิ้งออนไลน์ทุกวัน อาหารก็สั่งจากฟู้ด เดลิเวอรี่ ข้าวของเครื่องใช้ก็สั่งจากอีคอมเมิร์ซแพลทฟอร์ม (สั่งจนอัพเลเวลเป็นแพลททินั่มได้ละ)

ด้วยความที่ UX แฝงอยู่รอบตัวเราอย่างที่เกริ่นบอก ทำให้เราสังเกตการให้บริการของคนที่มาส่องของ สเตปของเค้า คือ

  • โทรมา เพื่อบอกว่าจะมาส่งล่วงหน้าไม่กี่นาที บางทีอยู่หน้าบ้านแล้วค่อยโทรบอกก็มี ว่าเนี่ย!! อยู่หน้าบ้านแล้ว พี่ลงมารับหน่อย
  • เราลงมารับของ เจ้าหน้าที่ถามว่า “คุณ xxx ใช่ไหมครับ” เหมือนทวนว่ามีชื่อนี้อยู่บ้านนี้จริงไหม จะได้ไม่ส่งผิดบ้าน
  • สแกน QR Code หน้ากล่องเพื่อยืนยันว่าส่งของแล้ว ซึ่งจะส่งไปที่ระบบของ Shopee เด้งแจ้งเตือนเรามา ว่าของมาส่งแล้ว(นะจ๊ะ) แล้วก็ยื่นส่งให้เรา

ซึ่งสเตปทุกเจ้าก็จะคล้ายๆกันแบบนี้ ในช่วงโควิด

เราลองตั้งโจทย์ว่า “อยากลดการสัมผัสกับพนักงานขนส่งจัง” เพราะจะได้เลี่ยงการติดเชื้อ

เราเลยใช้วิธีเอาตะกร้า 1 ใบไปวาง แล้วติดป้ายว่า “ส่งของวางที่นี่”

ตะกร้าที่จัดเตรียมไว้ให้พนักงานขนส่ง

และเมื่อพนักงานโทรหาเรา เราจะบอกเค้าทันทีว่า “ใส่ในตะกร้าหน้าบ้านได้เลยนะคะ” เป็นอันเรียบร้อย ลดการเผชิญหน้า ลดการสัมผัส และลดการเสี่ยงติดเชื้อโควิด

แต่มันไม่จบเท่านี้น่ะสิ !!

หลายๆครั้งที่เราอยู่ในบ้านแล้วสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ขนส่ง เค้าจะไม่จบแค่หย่อนของใส่ตะกร้าแล้วขับรถออกไป

สเตปที่เพิ่มมา คือ เค้าจะเอากล่องยื่นไปใกล้ๆกับตู้จดหมายหน้าบ้าน ที่มีบ้านเลขที่ติดอยู่ แล้วถ่ายรูปเก็บไว้ แล้วถึงจะใส่ของนั้นลงในตะกร้าที่เราจัดเตรียมไว้ให้

เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว เหตุผลที่น่าจะพอเป็นไปได้ก็คือ เค้าลดความผิดพลาดในการส่งผิดบ้าน

คำถามที่เกิดขึ้นคือ “เค้าทำทำไม”?

เพราะขั้นตอนที่ขาดหายไปกรณีที่เราไม่ได้รับเอง คือ การที่พนักงานไม่รู้เลยว่าชื่อสกุลคนรับเนี่ย อยู่บ้านนี้จริงไหมเพราะไม่สามารถสอบถามจากการพูดคุยได้โดยตรง

การถ่ายรูปบ้านเลขที่แล้วบันทึกไว้ในระบบ ทำให้ตามของง่ายขึ้นกรณีส่งผิด ว่าตอนมาส่งน่ะ ส่งบ้านเลขที่ไหนไปเพราะมีรูปถ่ายยืนยัน

ทีนี้เราก็เลยมาปรับ UX ให้พนักงานส่งสบายขึ้นดู

ด้วยการแก้ไขป้ายที่ติดอยู่หน้าตะกร้าเสียใหม่ โดยใส่บ้านเลขที่ไปด้วย

ปรับ UX โดยเพิ่มบ้านเลขที่เข้าไปด้วย

เอาไปวางไว้จุดเดิม แล้วก็สังเกตพฤติกรรมพนักงานขนส่งต่อไป

ผลที่ได้คือ จากเดิมที่พนักงานขนส่งจะต้องเดินไปที่ตู้จดหมายแล้วถ่ายรูปก่อน ก็แค่เดินมาที่ตะกร้า แล้วถ่ายของกับหน้าตะกร้า > ถ่ายเสร็จก็เอาของวางลงในตะกร้าได้เลยทันที

ภาระกิจสำเร็จ !!

นี่คือ UX ที่เกิดขึ้นในช่วง Work From Home ที่เรารู้สึกสนุกทุกรอบที่ได้สังเกต > ประมวลผล > แก้ไข > และได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

เพราะ UX อยู่รอบตัวเรา 🙂

มีความสุขกับ UX ได้ทุกวันนะทุกคนนนนนน!!

Author: AbaiyaMook