กลุ่มเป้าหมายที่ไม่ตรงกัน

ได้เข้าร่วมฟังผล Research ที่เกี่ยวข้องกับโปรเจคที่รับผิดชอบอยู่

จากน้องๆ นักศึกษาซึ่งได้ลงมือสำรวจและสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายจำนวนเกือบ 1000 คน

บุคคลที่น้องๆสำรวจ เป็นกลุ่มที่ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเรา

เนื่องจากการสัมภาษณ์ของน้องๆ เป็นการสุ่ม .. ที่จะเป็นใครก็ได้ เพศใดก็ได้ Lifestyle อะไรก็ได้ ..

แต่โปรเจคของเรา มันไม่ใช่แค่ “ใครก็ได้”’

น้องๆ เริ่มไล่รายละเอียด Insight / Demographic ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นเวลาเดียวกับที่เราเปิด Google Analytics เพื่อเทียบเคียงข้อมูลของกลุ่มคนของเราจริงๆ ว่ามีส่วนใดตรงกันหรือไม่

มีแค่เพศเท่านั้น .. ที่ตรงกัน ..

คำถามหนึ่งเกิดขึ้นทันทีในหัวของเรา

ผลการสำรวจนี้ มีประโยชน์แก่เราไหม? น้องๆ โฟกัสกลุ่มเป้าหมายกว้างไปหรือเปล่า

แต่เมื่อเราทำใจให้สบาย แล้วพยายามมองหาโอกาสของสิ่งที่ได้รับฟังตรงหน้า จึงพบว่า

“นี่คือช่องว่าง ที่เราอาจจะขาดอยู่”

ในเมื่อเรารู้แล้วว่ากลุ่มคนเหล่านี้ ยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเราในปัจจุบัน และกลุ่มคนเหล่านี้ ยังไม่ใช่ “ลูกค้า” หรือ “ผู้ใช้งาน” ของเรา

เวลาหลังจากนี้ คือ การรับทราบข้อมูลว่า มีโอกาสไหมที่เราจะชักชวนพวกเขาเข้ามาเป็นผู้ใช้งานของเราต่อไปในอนาคต ? และเราจะทำอย่างไรได้บ้าง?

เมื่อได้ฟังน้องๆ ไปจนถึงกลยุทธ์และแผนการตลาด รวมถึงระบบและฟีเจอร์ที่น้องๆเสนอให้มี เพื่อตอบรับคนเหล่านี้ ..

เรามองว่ามันยังไม่ใช่ .. และอาจจะเป็นการเดินผิดทางไปเสียหน่อย

ในการวางแผนการตลาด รวมถึงวิเคราะห์ฟีเจอร์ที่ควรจะมีใน Product ไม่ใช่การอ้างอิงจากสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายเรียกร้องแต่เพียงอย่างเดียว

เราต้องกลับมาถามตัวเองก่อนว่า .. ธุรกิจหรือโปรเจคของเราตัวนี้ มีหางเสือและเป้าหมายหลักในการมุ่งเน้นสิ่งใด .. เกิดมาเพื่ออะไร .. และอะไรคือ Core business?

เมื่อตอบคำถามนั้นได้แล้ว จึงนำมาคิดต่อยอดกับสิ่งที่น้องๆบอก .. ว่ามันใช่หรือไม่ .. สิ่งเหล่านั้นเมื่อทำขึ้นมาแล้ว ผู้ใช้งานจะเข้ามาใช้หรือเป็นส่วนหนึ่งใน Product & Service ของเราจริงๆหรือเปล่า คู่แข่งคือใคร และโอกาสในการที่จะดึงพวกเขามาใช้งาน Service เรา มันมีมากน้อยแค่ไหน

ถ้าคำตอบมันไม่ใช่ .. จงอย่าทำ

Research ที่ได้รับฟังมันจะไม่สูญเปล่า วันหนึ่งมันอาจเป็นส่วนต่อขยายไปในตลาดที่เรายังเข้าไปไม่ถึง — แต่ในทางกลับกัน .. มันก็อาจเป็นข้อสะท้อนว่ากลุ่มคนเหล่านี้เราจะไม่แตะต้องพวกเขา ถ้าเราได้ทราบว่าเค้า “ไม่ใช่” สำหรับเราจริงๆก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเชื่อว่า การที่จะ Research สิ่งใดให้ประสบผลสำเร็จ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง Focused Group ที่ใกล้เคียงกับ Persona หรือกลุ่มเป้าหมายที่เราวางไว้แต่ต้น

ไม่เลย .. ที่กล่าวมามันไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่มันคือสิ่งที่ควรทำและต้องทำ

การ Research คนในแบบที่กว้างมากๆแบบนี้ มันจะทำให้จุดที่เก็บจากเค้าได้มันเป็นแค่เรื่อง “ทั่วไป” ที่มาวิเคราะห์ลงลึกได้ยาก

แต่ถ้าเป็นการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับ Persona ที่เราวางไว้ .. นั่นคือการล้อมทุกอย่างให้แคบลง แล้วทำการทดลอง สอบถาม วิจัย และวิเคราะห์กับกลุ่มคนเหล่านี้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้า/ผู้ใช้งานเราจริงๆ

อย่าสับสนกับ Insight ที่มาจากกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ตรงกัน

Author: AbaiyaMook