อย่าสนใจแต่ผลลัพธ์

ตอนเด็กๆ แม่เคยสอนว่า

การทำความสะอาดบ้าน ต้องเริ่มจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ

เพดาน – ไม้กวาดหยากไย่

โต๊ะ ตู้ – ไม้ปัดขนไก่

พื้น – ไม้กวาด

แล้วจบด้วยการถู

ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจเพราะยังเด็กมาก ทำไมจะต้องทำเป็นสเตป จากสูงไปต่ำด้วย ก็เลยดื้อกับแม่

เริ่มจากการกวาดบ้านก่อนแล้วเอาไม้กวาดหยากไย่กวาดลงมา

ผลที่ได้ก็คือต้องใช้ไม้กวาด กวาดพื้นซ้ำ เสียเวลา เสียแรงมากขึ้นไปอีก

ในยุคที่ทุกอย่างแข่งขันกันสูง ด้วยเทคโนโลยี ด้วยสังคม หรือด้วยค่านิยมใดๆก็ตาม

ทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมต่างเร่งผลิตผลลัพธ์ให้ออกมาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันความต้องการของตลาด

ไก่ ก็ฉีดฮอร์โมน

การเกษตรก็มีการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ควบคุมได้ง่าย ไม่เกิดโรคระบาด

หลายๆธุรกิจ ไม่มีการวางระบบงานที่ดี มุ่งเน้นแต่จะทำให้มันเสร็จ มันจบ แค่นั้นก็พอแล้ว

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ บางครั้งมันก็คาบเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ก่อนจะออกทะเลไปไกล วกกลับเข้ามาถึงธุรกิจที่เรารับผิดชอบอยู่กันบ้าง

ถ้ามองกระบวนการผลิต Software Product ให้ถามตัวเองว่า คุณสนใจแต่ผลลัพธ์ว่าต้องการให้ software นั้นทำอะไรได้ ใช่หรือไม่!?

แล้วคุณสนใจหรือเปล่า ว่ากระบวนการที่จะได้มา ใช้ระบบการทำงานแบบไหน มี Action Plan อย่างไร ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง

สุดท้าย

คือจุดสำคัญที่หลายๆคนมองข้าม แถมไม่เห็นความสำคัญของมันที่สุด คือ “คุณมีสเตปการทำงานอย่างไร”

ก่อนคุณจะสั่งงาน และโยนงานเข้ากระบวนการผลิต คุณเก็บความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานครบถ้วน ถูกต้องแล้วหรือยัง? – ถามคำถามนี้ก่อน เพราะหลายๆคนมักชอบโยนงานเข้าฝ่ายผลิต ทั้งๆที่ยังไม่มี “ผลึก” ความคิด ที่ตกตะกอนความต้องการ หรือ Requirement ที่แน่ชัด!

และหลังจากที่คุณได้เก็บ requirement มาจนครบถ้วนจากทุกฝ่าย คุณได้ตกตะกอนมันในขั้นต้นหรือยัง ว่า solution ที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?

และหลังจากที่คุณได้ก้อนผลึกความคิดและความต้องการนั้นมาแล้ว คุณได้รับการ Approved จากผู้มีอำนาจตัดสินใจหรือยัง?

การทำงานอย่างไม่มีสเตปและขั้นตอนที่แน่นอนมีผลทำให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น มันแค่ “เสร็จ” แต่มันไม่ “สุด”

สุดที่ว่า คือ “ดีที่สุดที่คุณทำได้”

  • ถ้าคุณพลาดขั้นตอนการเก็บ requirement ที่ดีและถูกต้องตรงใจผู้ใช้งาน — Product ของคุณก็ได้แค่ทำให้เสร็จ แต่ไม่มีใครใช้งาน แถมงานของคุณก็จะแก้แล้วแก้อีก ไม่มีวันจบ เพราะทำออกมาแล้วไม่ตรงใจสักที
  • ถ้าคุณพลาดที่จะขอการ Approved จากผู้มีอำนาจตัดสินใจก่อนลงมือทำ – คุณอาจจะต้องทิ้ง Product ที่คุณทำ เพื่อเริ่มมันใหม่ เพราะผู้อำนาจตัดสินใจอาจมีความเห็นไม่ตรงกันกับคุณ
  • ถ้าคุณพลาดในขั้นตอนการตกตะกอนความคิด และลิสต์ solution ที่เป็นไปได้ออกมาให้มากที่สุด – คุณอาจจะพลาดการได้ Product ที่โคตรเจ๋ง จาก solution ที่คุณคิดมันไม่ออก เพราะคุณยังไม่ไตร่ตรองมัน

กระบวนการทำงาน (Process) ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ตายตัว ว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง เพราะทุกอย่างสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามลักษณะของงานและธุรกิจ

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เมื่อตกลงกันแล้วว่ากระบวนการทำงานต้องเป็นอย่างไร

จงปฏิบัติร่วมกันตามที่ตกลง

และผู้ที่ควบคุมกระบวนการเหล่านี้ จงอย่าออกนอกระบบเสียเอง

Author: AbaiyaMook