Requirement ความอยากและความต้องการที่เราต้องเข้าให้ถึง
การเก็บความต้องการของลูกค้า จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก
ลูกค้าส่วนใหญ่ พกพามาแค่ “ความอยาก”
อยากได้แบบนี้
อยากมีแบบนี้
อยากให้เป็นแบบนี้
และเกือบทั้งหมด ไม่รู้รายละเอียดอะไรเลย นอกจากความอยากที่มี
การเก็บความรายละเอียดความต้องการ ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก และเป็นปราการด่านแรกที่จะทำให้โปรเจคของคุณสามารถ “ปัง” หรือ “พัง” ได้ในเวลาเดียวกัน
ยิ่งถ้าลูกค้าไม่รู้อะไรเลย คุณยิ่งต้องมีวิธีในการสื่อสารที่จะเจาะเข้าไปในใจเค้าให้ได้ ว่าเค้าต้องการอะไรกันแน่
เหตุการณ์จริง ที่เข้ากับบทความนี้ที่อยากเล่า
ลูกค้างานหนังวัวทำมือของเรา ทักทายด้วยความต้องการ “พาสปอร์ตเคสหนังวัว”
หนังชนิดไหนดีคะ? (เราถาม พร้อมอธิบายชนิดของหนังให้ฟัง)
ทำไมหนังมันรายละเอียดเยอะจังคะพี่ หนูเลือกไม่ถูก – ลูกค้าตอบ
ลูกค้าเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบมั้ยคะ 🙂 – เราถามพร้อมส่งไอค่อนยิ้มไปให้ และอธิบายอีกยืดยาว
ถ้าลูกค้าชอบความสมบูรณ์แบบ ไม่สามารถทนเห็นรอยขีดข่วนของสินค้าได้เลย จะขอแนะนำเป็นหนังเครซีฮอร์สค่ะ
หนังเครซีฮอร์สเป็นหนังวัวส่วนที่ทนทานมาก มันถูกเรียกว่าเครซีฮอร์ส เนื่องจากนิยมใช้ทำเป็นอานม้า เพราะมันทนกับการเสียดสี ทนน้ำ (ได้ในระดับหนึ่ง) ทนฝุ่น ทนรอยขีดข่วนได้ และถ้าได้รับรอยขีดข่วน ลูกค้าแค่ใช้นิ้วมือสะอาดลูบวนเบาๆ ก็สามารถทำให้รอยเหล่านั้นจางลงได้ เป็นหนังชนิดที่ไม่ทิ้งรอยให้เราเห็นมากนัก เทียบกับหนังชนิดอื่น เหมาะกับคนที่ชอบความสมบูรณ์แบบ ที่ไม่อยากให้สิ่งของเป็นริ้วรอยค่ะ
แต่ถ้าลูกค้าชอบความเป็นธรรมชาติ แนะนำเป็นหนัง “ฟอกฝาด” ค่ะ มันจะเหมือนคนที่เล่นกางเกงยีนส์ ที่เค้านิยมไม่ซักและอวดร่องรอยของลายกางเกงยีนส์ที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน
หนังฟอกฝาด เป็นหนังวัวที่มีความเป็นธรรมชาติที่สุด เพราะขั้นตอนการย้อมของหนังนั้น ใช้วิธีการที่ธรรมชาติมาก เป็นหนังที่มีความดิบ แต่เกิดริ้วรอยได้ง่ายเมื่อได้รับการขีดข่วน เสียดสี รวมถึงจะมีความมันวาว เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน เหมาะกับคนดิบๆลุยๆ และยอมรับร่องรอยขีดข่วนได้
จากบทสนทนา
จะเห็นว่าเมื่อเรามีข้อมูลในตัววัตถุดิบมากพอ เราจะสามารถสร้างทางเลือกให้กับลูกค้า พร้อมทั้งผสมผสานกับไลฟ์สไตล์ ความชอบ และการใช้งานให้ลูกค้าเห็นภาพและตัดสินใจเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีมากขึ้น
นี่คือหนทางหนึ่งสำหรับการเก็บ Requirement
คือไม่ใช่แต่ถาม.. แต่เราต้องให้ข้อมูลกับลูกค้าเพื่อการตัดสินใจด้วย
มามองในมุมธุรกิจองค์กรบ้าง
ถ้าผู้บริหารระดับสูง ไม่มีความเข้าใจในรายละเอียดของโปรเจคที่จะทำเลย นั่นไม่ใช่ปัญหา
มันอยู่ที่ว่าคนที่ทำหน้าที่เก็บ requirement สามารถเสนอทางเลือก และมีวิธีในการล้วงความต้องการในใจของผู้บริหารท่านนั้นหรือไม่
ถ้าไม่ได้.. นั่นจึงจะเป็นปัญหา
คนที่ทำหน้าที่รับความต้องการตรงนี้จึงมีส่วนสำคัญมาก
นอกจากคุณจะต้องมีความรู้ จนสามารถเสนอทางเลือกให้กับผู้บริหารตัดสินใจได้
คุณยังจะต้องเป็นฝ่ายคิดและตั้งคำถามอย่างมีนัยสำคัญ
นัยสำคัญที่จะนำคำตอบที่ได้นั้น มาหาความเชื่อมโยงและแปรผลมันออกมาเป็น requirement ที่ถูกต้อง ชัดเจน ตรงใจ
Requirement ไม่ได้เกิดจากการ “รับฟัง” เพียงอย่างเดียว ..
แต่คุณต้อง “รุกเร้า” ในการยิงคำถาม
…จดจ่อกับการเล็งเป้าหมาย แล้วปล่อยลูกธนูให้พุ่งออกไปให้ตรงเป้าอย่างแม่นยำ